(662) 964 4912-4

(662) 964 4915

เจบีเอฟ ทริป 2013 “สิ่งที่เป็นไปไม่ได้คือไม่มีอะไร
07/09/2013
ทริปจีนขอบคุณลูกค้า 2013
15/09/2013


ข้อมูล : เราทุ่มเทเพื่อจัดการภายใต้มาตรฐานคุณภาพสูง GMP, HACCP และ ISO 9001:2015

ข้อมูล : เราทุ่มเทเพื่อจัดการภายใต้มาตรฐานคุณภาพสูง GMP, HACCP และ ISO 9001:2015

Escherichia Coli ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร

อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะการเลี้ยงสุกร ผลผลิตที่เป็นชี้วัดประสิทธิภาพการผลิตของฟาร์ม คือจำนวนลูกต่อแม่สุกรต่อปี ผู้เลี้ยงต้องเอาใจใส่และมีการจัดการที่ดี เนื่องจากลูกสุกรแรกเกิดระบบภูมิคุ้มกันและระบบทางเดินอาหารยังพัฒนาไม่เต็มที่ ดังนั้นการจัดการเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งของฟาร์มเพื่อลดความสูญเสีย โรคที่เป็นปัญหาในลูกสุกรดูดนม คือ อาการท้องเสีย ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
  • 1. ท้องเสียจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อ อี.โคไล (Colibacilosis), เชื้อคลอสทีเดียม (Clostridial diarrhea)
  • 2. ท้องเสียจากเชื้อโปรโตชัว เช่น โรคบิดมีตัว (Coccidiosis)
  • 3. ท้องเสียจากเชื้อไวรัส เช่น โรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (Porcine epidemic diarrhea, PED) โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ (Transmissible gastroenteritis, TGE)

ซึ่งสาเหตุของโรคเหล่านี้ มีสาเหตุจากเชื้อ อี.โคไล เป็นหลัก ความรุนแรงของอาการท้องเสียหรืออัตราการตายจะแตกต่างกันในแต่ละโรค แต่อย่างไรก็ตามโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ อี.โคไล พบว่าเป็นปัญหาที่แพร่กระจายทั่วโลกและจัดเป็นโรคที่ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับโรคติดเชื้ออื่นๆ ของโรคในระบบทางเดินอาหารด้วยกัน

เชื้อ อี.โคไล ก่อโรคได้จริงหรือ ?

เชื้อ อี.โคไล (Escherichia coli) เป็นแบคทีเรียแกรมลบรูปร่างเป็นท่อน (Gram negative rod) อยู่ในกลุ่ม Enterobacteriaceae เป็นเชื้อประจำถิ่น (Normal flora) ที่ยึดเกาะบริเวณภายในลำไส้ใหญ่ของคนและสัตว์ ดังนั้นเชื้อ อี.โคไล จึงมีความสําคัญในการตรวจเชื้อเพื่อควบคุมคุณภาพของอาหารและผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยใช้เป็นตัวบ่งชี้ที่บ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์มีการปนเปื้อนของสิ่งปฏิกูลหรือไม่ แต่ในภาวะร่างกายปกติเชื้อ อี.โคไล ไม่ทําให้เกิดโรค แต่เมื่อใดก็ตามที่สุกรได้รับปัจจัยที่ส่งผลต่อแบคทีเรียในลำไส้ก็อาจจะส่งผลรุนแรงต่อสุกรได้ เรียกว่า เชื้อฉวยโอกาส (Opportunistic pathogen) ชนิดของเชื้อก่อโรคส่วนใหญ่ คือ สายพันธุ์ Enterohaemorrhagic E.coli (EHEC) ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับชนิดสารพิษ (Toxin) ที่เชื้อผลิตออกมาเช่น สายพันธุ์ E.coli O157:H7 และ E.coli O104 ผลิตสารพิษ ชื่อ ชิกา (Shiga toxin) เป็นสาเหตุของโรคท้องร่วงที่ระบาดในเยอรมัน ทวีปยุโรป อเมริกาและประเทศอื่นๆ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลมีให้คนป่วยและเสียชีวิต

Colibacillosis คืออะไร ?

โรค Colibacillosis เกิดจากการติดเชื้อ อี.โคไล เป็นโรคในระบบย่อยอาหารที่สำคัญของลูก เป็นผลจากการที่สุกรรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เชื้อนั้นเจริญในลำไส้และสร้างสารพิษขึ้นมา ลักษณะโรคที่เกิดจากเชื้อ อี.โคไล ดังแสดงในแผนภาพที่ 1


รูปที่ 1 กลไลการเกิดโรคของเชื้อ อี.โคไล (กิจจา 2530)
อาการที่พบในลูกสุกร มี 3 แบบ ตามชนิดของเชื้อและสารพิษที่เชื้อสร้าง ได้แก่

1.เชื้อที่สร้างสารพิษชนิดเอนโดทอกซิน (Endotoxin) ทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นพิษ มักพบในลูกสุกรแรกเกิดและหลังหย่านม เนื่องจากมีการหลั่งสารฮีสตามีนออกมามาก ซึ่งทำให้ความดันโลหิตลดลง เพราะหลอดเลือดขยายตัว อัตราการเกิดโรค 70% และอัตราการตายสูงถึง 100%
2.เชื้อที่สร้างสารพิษชนิดเอนเทโรทอกซิน (Enterotoxin) ก่อโรคท้องร่วงในสุกร มักพบในลูกสุกรแรกเกิดและสุกรหลังหย่านมโดยสารพิษชนิดเอนเทโรทอกซินจะทำให้ลำไส้อักเสบ เนื่องจากมีการทำลายเซลล์เยื่อบุเมือก การดูดซึมสารอาหารของลำไส้สูญเสียและทำให้เกิดอาหารท้องร่วงอย่างรุนแรง เป็นผลทําให้ร่างกายสูญเสียน้ำ และสารอิเล็กโตรไลท์ สุกรจะแสดงอาการอุจจาระเหลว มีสีเหลืองอ่อน มีอัตราการป่วยถึง 70%
3.เชื้อที่สร้างสารพิษชนิดนิวโรทอกซิน (Neurotoxin) หรือ วาโซทอกซิน (Verotoxin) ทำให้เกิดโรคบวมน้ำ มักพบในสุกรหลังหย่านมที่โตเร็วและแข็งแรง ทอกซินชนิดนี้เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดจะก่อความเสียหายต่อผนังหลอดเลือด ทำให้คุณสมบัติในการป้องกันการซึมผ่านของผนังหลอดเลือดลดลง เกิดการซึมผ่านของสารน้ำภายในหลอดเลือดฝอยออกไปยังเนื้อเยื่อโดยรอบ และยังพบว่าสามารถเกิดในช่วงที่ลูกสุกรเครียด เช่น การเปลี่ยนอาหาร การรวมฝูง การทำวัคซีน เป็นต้น อัตราการเกิดโรคประมาณ 30-40% ในขณะที่มีอัตราการตายของสุกรป่วยค่อนข้างสูง คือ 50-90%

 

 
รูปที่ 2 ลักษณะอาการของการติดเชื้อ อี.โคไล ในลูกสุกรหย่านม

การควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อ อี.โคไล
  • การจัดการและการสุขาภิบาลที่ดี
  • ลูกสุกรในช่วงแรกเกิดให้ลูกสุกรได้รับนมน้ำเหลืองอย่างเต็มที่ เนื่องจากในนมน้ำเหลืองมีสารแอนติบอดี้ชนิด IgG, IgM และ IgA เป็นองค์ประกอบ ซึ่งเป็นสารภูมิคุ้มกันโรคที่สำคัญในช่วงสุกรแรกเกิด เพราะระบบทางเดินอาหารยังเจริญและทำงานได้ไม่เต็มที่
  • พักซองคลอดอย่างมีระบบและรักษาความสะอาดโดยการล้างคอกด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเป็นประจำ

แนวทางรักษาโรคติดเชื้อ อี.โคไล
ยาต้านจุลชีพที่แนะนำให้ใช้ในการรักษาโรคท้องเสียจากเชื้อ อี.โคไล ได้แก่ Neomycin (ออกฤทธิ์ได้ดีที่ลำไส้), gentamycin, amoxycillin, sulphonamide flouroquinolones และ tetracyclines

เอกสารอ้างอิง
กิจจา อุไรรงค์ (2530). แนวทางการวินิจฉัย รักษาและควบคุมโรคสุกร. โครงการตำรามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 1.โรงพิมพ์สารมวลชน กรุงเทพ. โชคชัย นกเทศ และคณะ (). โรคสัตว์เล็ก: สุกร. สถาบันกรสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.